Page 4 - หนังสือประชุมวิชาการสถานบำบัดยาเสพติด ครั้งที่ 24
P. 4
สารองคมนตรี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย
World Drug Report 2024 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ
(UNODC: United Nations Office on Drugs and Crime) ระบุว่าปี 2565 มีประชากรโลกกว่า 292 ล้าน
คนที่ใช้สารเสพติด โดยทั่วโลกมีจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับสถิติสิบปีที่ผ่านมา
โดยยาเสพติดที่แพร่ระบาดมากที่สุดคือ กัญชา พบผู้ใช้กัญชาราว 228 ล้านคน รองลงมาคือ ผู้ใช้สารกลุ่ม
โอปิออยด์ และสารกลุ่มแอมเฟตามีนมีจำนวน 60 และ 30 ล้านคนตามลำดับ ทั้งนี้พบว่ามีผู้ใช้ยาเสพติดเข้าสู่
กระบวนการบำบัดได้เพียง 64 ล้านคน หรือมีผู้ใช้ยาเสพติดเพียง 1 ใน 11 คนเท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการ
บำบัดรักษา นับว่ามีปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดในทั่วโลก สำหรับประเทศไทยพบว่า
ยาเสพติดที่แพร่ระบาดมากที่สุดกลับแตกต่างจากสถานการณ์โลก โดยประเทศไทยพบการแพร่ระบาดของ
สารกลุ่ม(เมท)แอมเฟตามีนเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ สารกลุ่มโอปิออยด์ (โดยเฉพาะเฮโรอีน) และกัญชา
ตามลำดับ โดยสถิติการจับกุมของสำนักงาน ป.ป.ส. พบจำนวนคดี และจำนวนยาเสพติดที่ตรวจยึดได้เพิ่มมาก
ขึ้น จากรายงานระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมาใน พ.ศ.2567 พบว่า ตรวจยึดของกลางได้ดังนี้ ยาบ้า จำนวน
797,000,000 เม็ด เคตามีน จำนวน 4,183 กิโลกรัม เฮโรอีน จำนวน 1,270 กิโลกรัม และไอซ์ จำนวน
15,645 กิโลกรัม ยึดอายัดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 9,333 ล้านบาท ยาเสพติดจึงยังคงเป็นภัยร้ายแรงต่อมวล
มนุษยชาติ จากความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล
อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับสั่งว่า “…การส่งเสริมให้เอาใจใส่เยาวชนผู้ที่ได้กระทำผิด โดยเฉพาะ
ผู้ที่เป็นเหยื่อของยาเสพติด ก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้บ้านเมืองมีความผาสุกได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของการ
ทำลายร่างกาย จิตใจของประชาชนโดยยาเสพติด ซึ่งส่วนมากก็เป็นความเคราะห์ร้าย เพราะว่าถูกชักชวนไป
เสพติด” การติดยาเสพติดนับเป็นโรคเรื้อรังที่ผู้บำบัดต้องใช้ศาสตร์ และศิลป์ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟู
สมรรถภาพให้บุคคลเหล่านี้กลับมาเป็นคนดีของชาติสืบไป
การประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติครั้งที่ 24 นี้จัดขึ้นโดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
แห่งชาติบรมราชชนนีร่วมกับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง การประชุมครั้งนี้ นับเป็นการนำองค์ความรู้
สู่การปฏิบัติส่งผ่านการสร้างกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการในรูปแบบของวัฒนธรรมไทยผ่าน แนวคิด
“บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน/ ราชการ) เพื่อก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างบูรณาการ สร้างสรรค์เป็น
รูปธรรมที่ชัดเจน ส่งผลให้สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด ณ โอกาสนี้ขออำนวยพรให้บุคลากรที่เข้าร่วม
ประชุมในครั้งนี้มีสุขภาพร่างกายที่เข้มแข็ง สุขภาพจิตใจที่งดงามเพื่อรวมพลังต่อสู้กับปัญหายาเสพติดต่อไป
(ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย)
องคมนตรี
2