Page 8 - EBook
P. 8
๒
การขึ้นทรงราชย์
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย นับตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม
พุทธศักราช ๒๕๕๙ ทั้งนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่
ประธานสภา ในนามของปวงชนชาวไทย ได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระรัชทายาท ขึ้นทรงราชย์ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม
พุทธศักราช ๒๕๕๙ และเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ
บดินทรเทพยวรางกูร และได้มีพระราชดำรัส ความว่า
"ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้กล่าวในนาม
ของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติ
ของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้า
ขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง"
จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ในวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยทรงเฉลิม
พระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
“ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพล
ราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้า
เจ้าอยู่หัว”
พระปรมาภิไธยแบบย่อ
“พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระองค์มีพระปฐมบรมราชโองการ พระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า
"เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุข
แห่งอาณาราษฎรตลอดไป"