Page 15 - My FlipBook
P. 15
๑๒
จุดเริ่มต้นของการพลศึกษาในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๖ กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งสถานฝึกหัด
ครูพลศึกษาขึ้นที่โรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ (โรงเรียนวัดราชบูรณะในปัจจุบัน) ใช้ชื่อว่า ห้องพลศึกษากลาง
สังกัดกรมศึกษาธิการ และในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและเปลี่ยนชื่อจาก ห้องพลศึกษากลาง
เป็น โรงเรียนพลศึกษากลาง
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งกรมพลศึกษาขึ้น และในปีพ.ศ. ๒๔๗๙ จึงโอน
โรงเรียนพลศึกษากลางเข้ามาสังกัดกรมพลศึกษาและย้ายที่ทำการมาอยู่ที่อาคารใหม่บริเวณกรีฑา สถานแห่งชาติ
(สนามศุภชลาศัย) และได้ปรับปรุงหลักสูตรเรื่อยมาจนปี พ.ศ. ๒๔๙๓ กรมพลศึกษาได้ปรับปรุงหลักสูตรผลิตครู
พลศึกษาให้สอดคล้องกับการผลิตครูสายอื่น ๆ มีหลักสูตรการเรียน ๕ ปี พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โรงเรียน
ฝึกหัดครูพลศึกษา ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๖ กรมพลศึกษาได้ยกระดับโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาเป็นวิทยาลัยพลศึกษา
เพื่อดำเนินการสอนในระดับ ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) และก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครู
พลานามัยขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เพื่อดำเนินการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.)
ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ได้ยุบโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัยและได้ขยายหลักสูตรของวิทยาลัยพลศึกษาเป็นระดับ
ปริญญาตรี โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยวิชาการศึกษา แต่ยังคงดำเนินการโดยกรมพลศึกษาและใช้ชื่อว่า
วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา ซึ่งจัดตั้งในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้ยุติการ
ดำเนินการวิทยาลัยพลศึกษาในส่วนกลางและโอนวิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา ไปให้วิทยาลัยวิชาการศึกษา
ดำเนินการต่อไป (โดยภายหลังกรมพลศึกษาได้จัดตั้งวิทยาลัยพลศึกษา ในส่วนภูมิภาคโดยดำเนินการสอนในระดับ
ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาต่อไปโดยให้การผลิตครูพลศึกษา ในระดับปริญญาตรีเป็นหน้าที่ของวิทยาลัยวิชา
การศึกษาโดยวิทยาลัยพลศึกษาในส่วนภูมิภาคจัดตั้งทั้งสิ้น ๑๗ แห่ง ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น
สถาบันการพลศึกษา นับได้ว่าทั้งคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและสถาบันการพลศึกษา
มีจุดเริ่มต้นที่จุดเดียวกันและยังคงมีความร่วมมือ กันมาโดยตลอด)
ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา ได้รับการยกฐานะ
เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพลศึกษาโดยมีการดำเนินงานและใช้หลักสูตรร่วมกัน กับวิทยาเขตกลางทั้งหมด
โดยมีหน้าที่ผลิตครูระดับปริญญาตรีในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต ซึ่งประกอบด้วย ๕ คณะวิชา คือ คณะพลศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์