Page 17 - E-book2
P. 17
ความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ที่ทรงมีต่องานด้านประวัติศาสตร์ เกิดจากการที่ได้ทรง
ซึมซับหล่อหลอมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังที่พระองค์ได้ทรงเล่าพระราชทานให้พระสหายที่คณะ
อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฟังว่า พระพี่เลี้ยงได้อ่านหนังสือเรื่อง “ไทยรบพม่า” ถวาย ก็
ทรงโปรดมาก และต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็มักจะทรงหานิทานชาดกใน
พระพุทธศาสนา หรือบางทีก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ พงศาวดารต่างๆ มาเล่าพระราชทาน ขณะ
ทรงเสวยพระกระยาหารอยู่เป็นประจํา ทําให้รู้สึกสนุก ตื่นเต้น ยิ่งทําให้ทรงสนพระราชหฤทัยมาก
ยิ่งขึ้น และเมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาขึ้น ก็โปรดอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี
จึงทรงรู้เรื่องเก่าๆ ดี
ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงสนทนากับ “พวกผู้ใหญ่” มักทรงได้รับคําชมว่าเก่ง พระองค์จึงทรงรู้สึกว่า
การอ่านหนังสือประเภทนี้เป็นการดี ต่อมาเมื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี จึงทรงเลือกศึกษาวิชา
ประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งจบการศึกษา
ในปีการศึกษา 2519 ทรงเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาโท 2 แห่ง คือ ศึกษาด้านภาษา
สันสกฤต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาวิชาจารึกภาษาตะวันออก ที่คณะโบราณคดี
มหาวิทยาลัยศิลปากร
ดังเหตุผลที่ทรงเล่าพระราชทานให้พระสหายในคณะโบราณคดีฟังด้วยพระอารมณ์ขันเสมอๆ
ว่า “ถูกเกลี้ยกล่อมปีละนิดละหน่อย จากศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ให้เรียนโบราณคดี
หรือจารึกจนจําชื่อคนสอนในคณะได้ อยากรู้จักหน้า เลยต้องมาเรียนต่อจนได้ปริญญาโท และทรง
คุ้นเคยกับสถานที่และบุคคลอยู่แล้ว เพราะทรงเป็นนักเรียนเตรียมศิลปากรมาก่อน (หมายถึง ต้อง
เสด็จฯ มาเปิดนิทรรศการอยู่บ่อยครั้ง)
และอีกสาเหตุหนึ่งคือ ในคราวที่เสด็จฯ มาเปิดนิทรรศการ “วันดํารง” ทรงทอดพระเนตร
สําเนาจารึกอักษรขอมโบราณ มอญโบราณ และอักษรไทยสมัยต่างๆ ติดแสดงอยู่ จึงเกิดแรงบันดาล
พระราชหฤทัยที่จะทรงอ่านได้บ้าง ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ จึงทรงนํา ดร.อุไรศรี วรศะริน
ซึ่งขณะนั้นเพิ่งสําเร็จการศึกษาทางด้านภาษาโบราณมาจากมหาวิทยาลัยปารีส เข้าเฝ้าถวายพระ
อักษรพิเศษ และได้ทรงทดลองอ่านจารึกต่างๆ หลายหลัก เช่น จารึกปราสาทพนมวัน และกลุ่มจารึก
ปราสาทพนมรุ้ง เป็นต้น ทําให้เมื่อถึงคราวที่จะต้องเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ จึงทรงเลือกทํา
วิทยานิพนธ์เรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับจารึกภาษาเขมร
โบราณ ภาษาสันสกฤต รวมทั้งโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะด้วย