Page 40 - 385-67 สถาบันบำบัด P.10
P. 40
การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนคนภูไทโดยใช้ทุนชุมชนเป็นฐานเพื่อป้องกันยาเสพติด:
กรณีศึกษาชุมชนหนองช้าง อําเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
นิพิฐพนธ์ สุปัญบุตร* อภิชาติ ใจอารีย*์ * ประสงค์ ตันพิชัย**
บทคัดย่อการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับทักษะชีวิตเพื่อป้องกันยาเสพติดของเด็กและเยาวชนคนภูไท ชุมชนหนองช้าง 2) ศึกษาทุนชุมชนในการสร้างทักษะชีวิตแก่เด็กและเยาวชนคนภูไทชุมชนหนองช้าง 3) พัฒนา แนวทางการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนคนภูไทโดยใช้ทุนชุมชนเป็นฐาน เพื่อป้องกันยาเสพติด ใช้การวิจัยเชิง ปริมาณและเชิงคุณภาพ พื้นที่วิจัยเป็นชุมชนคนภูไทชุมชนหนองช้าง โดยกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ เด็กและเยาวชนคนภูไท จํานวน 210 คน โดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม และผู้ให้ข้อมูลหลักจากการสัมภาษณ์ ได้แก่ ผู้นําชุมชน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตําบล อาสาสมัครสาธารณสุข ปราชญ์ชาวบ้าน พระภิกษุสงฆ์ เจ้าหน้าที่ตํารวจ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และตัวแทนเด็กและเยาวชนคนภูไทจํานวน 32 คน โดยเลือกแบบเฉพาะเจาะจง การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติเชิงพรรณนา ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลวิจัยพบว่า 1) ระดับทักษะชีวิตเพื่อป้องกันยาเสพติดของเด็กและเยาวชนคนภูไทโดยภาพรวมอยู่ในระดับดี โดยทักษะการควบคุมตนเอง ทักษะการเห็นคุณค่าในตัวเอง ทักษะการปฏิเสธ และทักษะการตัดสินใจอยู่ในระดับดี ส่วนทักษะการแก้ปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง 2) ทุนชุมชนในการเสริมสร้างทักษะชีวิตแก่เด็กและเยาวชนคนภูไท ชุมชนหนองช้างประกอบไปด้วย ทุนเครือข่าย/ ทุนมนุษย์ ทุนทางสถาบัน และทุนทางวัฒนธรรมประเพณี และ ภูมิปัญญาท้องถิ่น 3) แนวทางการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนคนภูไทฯ ที่เหมาะสมกับชุมชนหนองช้าง และ สามารถนํามาต่อยอดเพื่อพัฒนาชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย (1) การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชน คนภูไทโดยบูรณาการทุนเครือข่าย/ ทุนมนุษย์ (2) การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนคนภูไทโดยการบูรณาการทุน ทางวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น (3) การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนคนภูไทโดยการบูรณาการ ทุนทางสถาบัน (4) การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนคนภูไทโดยการบูรณาการทุนสถาบันและทุนมนุษย์ (5) การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนคนภูไทโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และยังมีการผสานกับ มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการเรียนรู้ ทําให้เห็นว่าชุมชนเองให้ความสําคัญกับเด็กและเยาวชน ไม่ปล่อยปละละเลย เด็กจนทําให้เด็กได้รับผลกระทบจากปัญหาต่าง ๆ โดยลําพัง เป็นการใช้ทุนชุมชนที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ เพื่อส่วนรวม
สรุป จากผลการวิจัยสามารถสรุปได้ว่า ทุนที่มีอยู่ในชุมชนสามารถนํามาใช้ในการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและ เยาวชนได้ และต้องมีการบูรณาการทุนต่างๆ มาใช้อย่างเหมาะสม
ข้อเสนอแนะ ควรใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (PAR) และขยายผลของกิจกรรมไปยังชุมชนที่มีบริบท ใกล้เคียงกัน
คําสําคัญ: ทักษะชีวิต, เด็กและเยาวชน, คนภูไท, ทุนชุมชน, การป้องกันยาเสพติด
* นิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ** รองศาสตราจารย์ ภาควิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
38