Page 17 - pdffile_Classical
P. 17

4
               ปัญหาค่านิยมและศีลธรรมที่เสื่อมลง

               การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจากเศรษฐกิจการเกษตร

               มาสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นเหตุให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทมาสู่
               ความเป็นสังคมเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่แบบไทยดั้งเดิม
               ต้องปรับเปลี่ยนเป็นการดำเนินชีวิตในรูปแบบสมัยใหม่ที่เร่งรีบ  เผชิญภาวะ
               การแข่งขัน และมีความกดดันสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ วัฒนธรรม และ

               วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยโดยส่วนรวม นอกจากนี้ โลกาภิวัตน์ยังก่อให้เกิด
               กระแสวัตถุนิยม และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างไม่เหมาะสม เช่น การใช้
               อินเทอร์เน็ตโดยขาดคุณธรรมและความรอบคอบ ทำให้ภูมิต้านทานที่สังคมมีอยู่
               ลดลง จนเกิดเป็นค่านิยมบริโภคเกินความจำเป็น ทั้งหมดนี้ ทำให้ปัญหาต่างๆ

               เช่น อาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาหนี้สิน และปัญหาคอรัปชั่น มีแนวโน้ม
               ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

               ความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นในหลายมิติของสังคมนี้ ทำให้ฐานรากของการพัฒนา

               ประเทศขาดความมั่นคง เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งจาก
               ปัจจัยภายในและภายนอกเข้ามากระทบประเทศไทยซึ่งมีภูมิต้านทานน้อยอยู่แล้ว
               จึงได้รับความเสียหายอย่างหนักหลายครั้ง


               หากแต่ประเทศไทยยังมีศูนย์รวมหลักคิด  หลักปฏิบัติที่สามารถเรียนรู้และ
               น้อมนำมาประยุกต์ใช้เพื่อฝ่าวิกฤตและเตรียมรองรับความไม่แน่นอนและ
               ความผันผวนต่างๆ  ที่จะเกิดขึ้นได้  นั่นคือพระราชดำรัส  แนวพระราชดำริ
               และประสบการณ์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ

               พระเจ้าอยู่หัว  ที่พระราชทานเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีหลักยึดเหนี่ยว
               พร้อมเผชิญกับปัญหาอย่างมีสติปัญญา

               ....................................................................................................................................

               สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว สามารถหาเพิ่มเติมได้ที่
               1. ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี. เศรษฐกิจนโยบายสาธารณะ. กรุงเทพฯ : บริษัท ไทยพัฒนารายวันการพิมพ์ จำกัด, 2551.
               2. ผาสุก พงษ์ไพจิตร, คริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ :
                 ซิลค์เวอร์ม, 2546.
               3. โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย. รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2550
                  เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน. กรุงเทพฯ : คีนพับลิชชิ่ง (ประเทศไทย), 2550.
                 (สำหรับผู้ที่ต้องการรายงานฉบับภาษาอังกฤษ ติดตามได้ที่ www.undp.or.th/resources/nhdr.html)
               4. The Growth Report: Strategies for Sustained Growth and Inclusive Development.
                 The Commission on Growth and Development, The World Bank, 2008.

                                                                                        15
   12   13   14   15   16   17   18   19   20   21   22