Page 29 - คัมภีร์ฉันทศษศตร์pdf
P. 29
จะกล่าวธาตุปถวี โทษนั้นสี่สิบสองสถาน
อาพาธนั้นบรรดาล ให้เจ็บปากแลเจ็บฟัน
………………………………… …………………………………
จักแจ้งอาโปธาตุ เปนประหลาดเมื่อหย่อนไป
อาการสิบเอ็จให้ ดีพลุ่งไซ้รแลเสมหา
………………………………… …………………………………
จักกล่าววาโยไซ้ร เมื่อหย่อนไปให้โทษมา
ให้ขัดในอุรา ให้แสบไส้ให้ตัวเย็น
………………………………… …………………………………
อากาศธาตุแตกนั้น ให้หูลั่นกรอกกลอกตา
แลดูนิ้วแลหัตถา ห่อนปรากฏจักษุตน…
แนวคิดเกี่ยวกับ ธาตุ 4 นั้น ปรากฏอยู่ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยเกือบทุกเล่ม ได้แก่ “คัมภีร์พระโอสถ
พระนารายณ์ พระคัมภีร์มหาโชตรัต พระคัมภีร์โรคนิทาน พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ พระคัมภีร์ธาตุ
วิภังค์ พระคัมภีร์สรรพคุณยาแลมหาพิกัต พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ และพระคัมภีร์
ธาตุบรรจบ” แต่ธาตุทั้ง 5 นั้น ไม่ปรากฏในคัมภีร์เล่มใดเลยยกเว้นใน คัมภีร์ฉันทศาสตร์ เท่านั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่ คัมภีร์ฉันทศาสตร์ กล่าวถึงธาตุทั้ง 5 นั้น ได้อ้างว่า นำความคิดมาจาก
“พระคัมภีร์โรคนิทาน” ดังข้อความว่า
…ด้วยข้าอุตส่าห์เพียร จึงได้เขียนเปนตำรา
จักกล่าวตามลักษณะ ชื่อรัตนะธาตุทั้งห้า
อาจารย์ท่านพรรณา คัดออกมาจากโรคนิทาน
ลักษณนั้นมีห้า เปนธรรมดาแต่โบราณ…
แต่เมื่อได้พิจารณา “พระคัมภีร์โรคนิทาน” โดยละเอียดแล้ว จะเห็นว่าธาตุทั้ง 5 ไม่มีในพระคัมภีร์
ดังกล่าวเลย มีกล่าวเฉพาะแต่ ธาตุ 4 เท่านั้นคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ
ไม่ปรากฏธาตุอากาศตามที่กล่าวอ้าง อาจเป็นไปได้ว่าผู้เรียบเรียงนำเรื่องธาตุ 5 มาจาก อายุรเวทของอินเดีย
หน้า 27