Page 26 - กฏหมายในชีวิตประจำวัน
P. 26

26


               5.2.1 เจตนาตามความเป็นจริง

                 ผู้กระทําต้อง “รู้” ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด และผู้กระทําจะต้องประสงค์ต่อผล
               หรือเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

                 การรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด หมายความว่า รู้ข้อเท็จจริงทุกประการอันเป็น

               องค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้นๆ เช่น ในความผิดฐานฆ่าคนตาย ตาม ปอ. มาตรา 288

               ผู้กระทําก็จะต้องรู้ว่าการกระทําของตนเป็นการ “ฆ่า” และรู้ว่าเป็นการฆ่า “ผู้อื่น”
                  ผลของการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกคือ ถือว่าผู้กระทําไม่มีเจตนากระทําความผิดฐาน

               นั้นๆ เช่น หากผู้กระทําไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนยิงคือ “ผู้อื่น” แต่เข้าใจว่าเป็นการยิง “ศพ” ก็จะถือว่ามีเจตนาฆ่าผู้อื่น

               ไม่ได้จึงไม่ผิดตาม ปอ. มาตรา 288 เพราะความผิดตามมาตรานี้ ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาจึงจะมีความผิด

               ได้ อย่างไรก็ตามหากการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกนั้นเกิดขึ้นเพราะความประมาท
               ผู้กระทําก็อาจต้องรับผิดฐานประมาท หากมีกฎหมายบัญญัติว่า การกระทําโดยประมาทเป็นความผิด เช่น

               หากผู้กระทําดูให้ดีก็จะรู้ว่าสิ่งที่ตนยิงเป็น “ผู้อื่น” ไม่ใช่ “ศพ” ผู้กระทําก็จะต้องรับผิดฐานฆ่าคนตายโดย

               ประมาทตาม ปอ. มาตรา 291

                 เจตนาประสงค์ต่อผล  หมายความว่า  มุ่งหมายหรือประสงค์ต่อผลโดยตรง  ในความผิดต่อชีวิต  และ

               ความผิดต่อร่างกาย  ในการวินิจฉัยต้องใช้หลักกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาเป็นแนวทางในการพิจารณา  เช่น
               ผู้กระทําใช้ปืนยิงไปที่ผู้เสียหาย   โดยยิงไปที่อวัยวะสําคัญๆ   ต้องถือว่าประสงค์ต่อผลหรือมุ่งหมายให้

               ผู้เสียหายตาย  แต่ถ้าใช้มีดเล็กๆ  แทงทีเดียวในเวลามืดคํ่าขณะที่มองเห็นไม่ถนัด  อาจต้องถือว่าประสงค์

               หรือมุ่งหมายต่ออันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายเท่านั้นก็ได้

                 เจตนาเล็งเห็นผล หมายความว่า ผู้กระทําไม่ประสงค์ต่อผลแต่เล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลอย่างแน่นอน เท่าที่
               จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นเดียวกับผู้กระทําโดยปกติเล็งเห็นได้

                 ในการวินิจฉัยนั้น ให้พิจารณาถึงเรื่องประสงค์ต่อผลก่อน หากพิจารณาเห็นว่าผู้กระทําไม่ประสงค์ต่อผล

               จึงค่อยมาพิจารณาต่อไปว่าผู้กระทําเล็งเห็นผลหรือไม่ เจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลก็มีผลทาง

               กฎหมายอย่างเดียวกัน กล่าวคือถ้าเป็นเจตนาฆ่าประเภทประสงค์ต่อผล ผู้กระทําก็ผิดฐานฆ่าคนตายโดย
               เจตนา ตาม ปอ.มาตรา 288 ถ้าเป็นเจตนาฆ่าประเภทเล็งเห็นผล ผู้กระทําก็ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

               ตาม ปอ. มาตรา 288 เช่นเดียวกัน

                 เจตนาพิเศษคือ มูลเหตุจูงใจในการกระทําความผิด เจตนาพิเศษเป็นคนละกรณีกับเจตนาธรรมดา เจตนา

               ธรรมดาคือประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล

                 ความผิดใดกฎหมายต้องเจตนาพิเศษ ก็จะบัญญัติถ้อยคําที่แสดงว่าเป็นเจตนาพิเศษไว้ในองค์ประกอบ
               ของความผิดนั้นๆ โดยตรง เช่น คําว่า “โดยทุจริต” ถือว่าเป็นเจตนาพิเศษ ของความผิดฐานลักทรัพย์ตาม

               ปอ.มาตรา 334 คําว่า “เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง” เป็นเจตนาพิเศษของของ

               ความผิดฐานปลอดเอกสารตาม ปอ. มาตรา 264
   21   22   23   24   25   26   27   28   29   30   31