Page 81 - e-book Health Knowledge Articles
P. 81
การดูแลช่องปากในผู้สูงอายุ
การมีสุขภาพช่องปากที่ดีมีความสำคัญกับทุกกลุ่มวัย ซึ่งเป็นสุขบัญญัติ ข้อ 2 รักษาฟัน
ให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง ปฏิบัติให้เป็นนิสัยและอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเมื่อ
เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เพราะฟันของผู้สูงอายุที่เหลืออยู่ มีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้งานมายาวนาน
มีการสูญเสียฟัน เกิดช่องว่างระหว่างฟัน ทำให้การดูแลรักษาความสะอาดทำได้ยากกว่าฟันทั่วๆ
ไป ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพช่องปากดีจะช่วยให้รู้สึกสบาย รับประทานอาหารได้อร่อยและหลากหลาย
ประเภท การพูดออกเสียงได้ชัดเจน ไม่ต้องกังวลในการเข้าสังคมและส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ถ้าสุขภาพช่องปากไม่ดีจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้ เพราะจุลินทรีย์ จากการติดเชื้อ
ในช่องปากอาจผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปที่หัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติความผิดปกติของหัวใจ
หรือเข้าสู่ทางเดินหายใจ
ปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ โรคฟันผุและเหงือกอักเสบซึ่งทำให้เกิด
การสูญเสียฟัน ทั้งโรคฟันผุและเหงือกอักเสบหรือปริทันต์อักเสบ มีสาเหตุจากคราบจุลินทรีย์
(plaque) คราบจุลินทรีย์ คือ แผ่นคราบนิ่มๆ สีขาวที่มีเชื้อแบคทีเรีย คราบนี้สะสมที่ฟันและ
ขอบเหงือก ดังนั้น การกำจัดคราบจุลินทรีย์โดยแปรงฟันให้สะอาดทุกวันจะช่วยป้องกันฟันผุ
เหงือกอักเสบ และลดการติดเชื้อในช่องปากได้
การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับผู้สูงอายุที่มีฟันธรรมชาติ
• แปรงฟันให้สะอาดด้วยแปรงชนิดขนแปรงนิ่ม ร่วมกับยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ชนิดไม่
ระคายเคืองอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและก่อนนอน
• ควรเลือกแปรงที่มีด้ามจับถนัดมือ หรือดัดแปลงด้ามจับให้มีขนาดเหมาะสมกับมือ
ผู้สูงอายุ หรืออาจเลือกใช้แปรงซอกฟันที่มีขนาดเหมาะสมกับซอกฟันตามคำแนะนำของ
ทันตแพทย์
• ใช้แปรงที่มีหัวแปรงขนาดเล็ก แปรงฟันซี่ที่อยู่โดดๆ
• พยายามแปรงฟันทุกซี่ ทุกด้าน เพื่อกำจัดคราบอาหารและคราบจุลินทรีย์
•ใช้ไหมขัดฟัน เช็ดทำความสะอาดบริเวณซอกฟัน เพราะขนแปรงสีฟันทั่วไปไม่สามารถ
เข้าถึงบริเวณนี้ และควรบ้วนปากหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
•ใช้ผ้าก๊อซพับเป็นแถบขนาดเล็กโอบเช็ดฟันด้านที่ติดกับช่องว่างฟันที่ถอนอ อ กไป โดยการเช็ด
ให้ชิดกับขอบเหงือก
•หากมีอาการปากแห้ง ให้จิบน้ำบ่อย ๆ
75