Page 10 - บทที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์
P. 10
9
ข้อดีและข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
ข้อดี มีดังน ี้
1. คล่องตัว ระบบเศรษฐกิจมีความคล่องตัวและมีความสามารถในการปรับตัวได้มากหรือมี
ความสามารถในการจัดการหรือกระตุ้นให้มีการดำเนินการเพื่อผลิต หรือให้บริการสินค้าที่ประชาชนส่วนใหญ่
ต้องการ
2. เสรีภาพ หน่วยเศรษฐกิจมีเสรีภาพในการใช้ทรัพยากรหรือประกอบกิจการใดที่ต้องการ
ถ้าไม่ขัดต่อความสงบหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะมีการจัดสรร
ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยกลไกราคาและการทำงานของระบบตลาด เพราะระบบเศรษฐกิจนี้มีผู้
ซื้อและผู้ขายจำนวนมากที่แต่ละคนมีความรู้ในสถานการณ์ของตลาดและสินค้าที่ตนเกี่ยวข้องมาก และ
สามารถที่จะเข้าหรือออกจากตลาดนั้น
3. ประสิทธิภาพ ทรัพยากรสามารถหมุนเวียนเคลื่อนไหวไปยังที่ต่าง ๆ ได้คล่องและรวดเร็ว
โดยอาศัยกลไกราคาเป็นเครื่องช่วย เช่น เจ้าของปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายทรัพยากรของตนเองได้
หรือผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าได้ ซึ่งการเคลื่อนย้ายทรัพยากรนี้จะกระทำไปจนกระทั่งการจัดสรร
ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตได้ดุลยภาพ
ข้อเสีย มีดังน ี้
1. ประสิทธิภาพ ในระบบเศรษฐกิจนี้การจัดสรรทรัพยากรอาจไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ ถ้า
บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินการและประกอบกิจการต่างๆ จนนำไปสู่การผูกขาด
2. ความเสมอภาค ระบบเศรษฐกิจนี้อาจมีการสืบทอดทรัพย์สิน ซึ่งอาจมีผลให้เกิดความไม่
เสมอภาค
ในการจัดสรรรายได้และความมั่งคั่ง หรือการจัดสรรทรัพยากร เช่น การผลิตสินค้า ซึ่งอาจทำเพื่อส่วนน้อยโดย
ไม่คำนึงถึงความต้องการของคนส่วนใหญ่
3. ความมีเสถียรภาพและปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจนี้อาจก่อให้เกิด
ความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น การผันแปรรวดเร็วในตลาดหุ้นและตลาดทุน อันเนื่องมาจากการเก็ง
กำไร หรืออาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมขึ้น อันเนื่องมาจากการผลิตสินค้าและบริการที่ไม่คำนึงถึง
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว การพัฒนาอะไรก็ตามถ้าสามารถหลีกเลี่ยงการทำลาย
สิ่งแวดล้อมได้ย่อมเป็นผลดีแก่ทุก ๆ ฝ่าย นอกจากนี้การพัฒนาเศรษฐกิจยังเน้นทางด้านวัตถุมากกว่าทางด้าน
ศีลธรรมของประชาชน แม้จะทำให้ประเทศมีความก้าวหน้าและประชาชนได้รับความสะดวกสบาย แต่อาจ
ก่อให้เกิดปัญหาสังคมที่รุนแรงและก่อความไม่สงบสุขให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้
ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialist Economic System) หรือระบบเศรษฐกิจแบบ
คอมมิวนิสต์ (Communism) เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลาง (Central Planning) มี
ลักษณะสำคัญคือ รัฐบาลเข้าควบคุมการผลิตในส่วนสำคัญและในบางกรณีรัฐบาลอาจเข้ายึดถือกรรมสิทธิ์ใน
ทรัพย์สินแทนเอกชนก็ได้ เสรีภาพในการผลิตของเอกชนถูกจำกัด รัฐบาลเป็นผู้กำหนดชนิดของสินค้าที่จะทำ
การผลิต ตลอดจนวิธีการผลิตและอื่น ๆ รวมทั้งเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้ผลผลิตอย่างไร โดยทำการจัดสรร
ผลผลิตตามหลักแห่งการผลิตเพื่อใช้ ไม่ให้แสวงหากำไร ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้แรงงานอาจได้ค่าจ้างเป็นเงิน
และมีทรัพย์สินส่วนตัวสำหรับดำเนินธุรกิจขนาดย่อมได้ แต่การควบคุมการผลิตส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
ประชาชนมีเสรีภาพที่จะเลือกอาชีพและเลือกใช้สิ่งของใด ๆ ตามความต้องการได้บ้าง แต่ระบบราคามิได้เป็น
ส่วนสำคัญ ระบบเศรษฐกิจแบบนี้อาจเรียกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม